Thursday, September 20, 2018

วิธีประหยัดน้ำ

         วิธีประหยัดน้ำ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ให้มีไว้ใช้ได้นานจนถึงรุ่นลูกหลาน แถมยังประหยัดเงินค่าน้ำที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน

1. เช็คท่อน้ำและก๊อกน้ำ

         รู้ไหมคะว่าน้ำหยดเล็ก ๆ จากท่อน้ำหรือก๊อกน้ำที่ติดตั้งไม่แน่นนั้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ซ่อมแซมในแต่ละวันนั้นจะสูญเสียน้ำไปประมาณ 75 ลิตร และถ้าท่อน้ำมีขนาดใหญ่จะเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ถึง 387 ลิตร คิดูสิคะว่ามันมากมายแค่ไหน 

2. ไม่ทิ้งขยะลงชักโครก

         การทิ้งขยะลงชักโครกนอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชักโครกตันแล้วยังเป็นการสิ้นเปลืองน้ำอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัย กระดาษชำระ หรือก้นบุหรี่ที่ถูกท้งลงไป จะต้องใช้น้ำปริมาณมากทีเดียวในการชำระล้างไม่ให้เหลือซาก 


3. ตรวจเช็คถังเก็บน้ำชักโครกเสมอ 
         หากถังเก็บน้ำชักโครกรั่วจะทำให้มีน้ำไหลลงชักโครกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นแล้วควรหมั่นตรวจเช็คเป็นประจำ โดยการใส่สีผสมอาหารลงไปในถังเก็บน้ำชักโครกแล้วกดน้ำทิ้ง และหลังจากกดน้ำไปแล้วประมาณ 30 วินาทียังมีน้ำไหลออกมา แสดงว่าถังเก็บน้ำชักโครกชำรุด ต้องรีบซ่อมแซมโดยด่วน

4. ปิดน้ำระหว่างแปรงฟัน

         หลาย ๆ คนมักจะเผลอเปิดน้ำขณะแปรงฟัน เพราะคิดว่าคงจะไม่สิ้นเปลืองอะไรมากมาย โดยที่ไม่รู้เลยว่าการทำเช่นนี้ทำให้เสียน้ำไปถึง 200 แกลลอนหรือ 757 ลิตรโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งเทียบเท่ากับสะรขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เลี้ยงฉลามได้ถึง 6 ตัวเลยทีเดียว 

5. ปิดน้ำระหว่างถูสบู่

         จะเปิดน้ำทิ้งไปทำไมหากในระหว่างที่สระผมหรือถูสบู่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงควรปิดน้ำให้สนิทเสียก่อน แล้วค่อยเปิดน้ำอีกครั้งหลังจากชำระร่างกายด้วยสบู่เสร็จ 

6. อาบน้ำให้เร็วขึ้น

         เพราะในการอาบน้ำแค่ 4 นาทีเท่ากับการใช้น้ำไป 75–150 ลิตร ซึ่งถ้าอาบนานกว่านี้ปริมาณของน้ำที่ต้องใช้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นแล้วควรอาบน้ำให้เร็วขึ้นอีกนิด ใช้เวลาให้น้อยลง เพื่อช่วยกันประหยัดทรัพยากรน้ำไว้ใช้ในภายภาคหน้า


7. อาบน้ำโดยใช้ฝักบัว

         หลายคนคงชอบนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ แต่หลังจากนอนแช่ในอ่างเสร็จก็ต้องมาล้างตัวด้วยน้ำสะอาดอีกรอบอยู่ดี ซึ่งเท่ากับว่าใช้น้ำเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว ฉะนั้นเปลี่ยนมาอาบน้ำโดยใช้ฝักบัวจะช่วยประหยัดได้มากกว่าเยอะเลย 

8. เปลี่ยนวิธีล้างจาน

         หลาย ๆ คนอาจจะชินกับการเปิดน้ำไหลผ่านเพื่อล้างฟองสบู่ แต่กว่าจานจะสะอาดก็ต้องเสียน้ำไปมากเหมือนกัน เลยอยากแนะนำให้รองน้ำใส่กะละมังหรือซิงค์เอาไว้ก่อนแล้วค่อยนำจานมาล้าง ซึ่งวิธีนี้ทำให้จานสะอาดมากกว่า แถมยังใช้น้ำในการล้างจานน้อยกว่าด้วย

9. ไม่เปิดน้ำไหลผ่านผักและผลไม้

         เช่นเดียวกับการล้างจาน การเปิดน้ำให้ไหลผ่านผักและผลไม้ต้องใช้น้ำเยอะและอาจจะล้างผักผลไม้ได้ไม่สะอาด ฉะนั้นจึงแนะนำให้ล้างโดยการเปิดน้ำใส่ซิงค์หรือกะละมังแล้วนำผักกับผลไม้แช่ลงไปดีกว่า 

10. ปลูกหญ้ารอบโคนต้นไม้

         การปลูกหญ้ารอบโคนต้นไม้จะช่วยชะลอการระเหยน้ำ ถ้าบริเวณที่ปลูกต้นไม้มีแค่ดินหรือมีหญ้าเป็นหย่อม ๆ น้ำจะระเหยเร็วมากหลังจากรดน้ำต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ได้รับน้ำไม่เพียงพอ เหี่ยวเฉา และต้องรดใหม่อีกรอบ



ที่มา : https://home.kapook.com/view129790.html

วิธีประหยัดไฟ

          วิธีประหยัดไฟในบ้าน บอกลาบิลค่าไฟแพงในช่วงหน้าร้อน มาดูกันสิว่าเราสามารถช่วยประหยัดไฟด้วยวิธีประหยัดในบ้านได้อย่างไรบ้าง

1. ลดการใช้แอร์

          บ้านไหนที่มีแอร์ก็ควรเปิดใช้แอร์เท่าที่จำเป็น เช่น เปิดในวันที่รู้สึกร้อนมากจริง ๆ อีกทั้งควรเปิดแอร์ในอุณภูมิที่พอเหมาะ โดยเปิดแอร์ที่ 25 องศาก็พอ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่นอนไม่หลับหากไม่เปิดแอร์ ก็เปลี่ยนมาเปิดแอร์ช่วง 1- 2 ชั่วโมงแรกก่อนจะนอนหลับก็ได้ ตั้งเวลาปิดแอร์เอาไว้ให้เรียบร้อย และอย่าลืมสำรวจประตูหน้าต่าง และช่องโหว่ทุกช่องในห้องนอนก่อนด้วย เพียงแค่นี้ก็ช่วยประหยัดไฟได้เยอะแล้วล่ะ

2. เว้นระยะห่างการใช้งานเครื่องดูดฝุ่น

          ถ้าบ้านคุณไม่ได้เลี้ยงสัตว์ และปกติก็ไม่ค่อยมีฝุ่นมากมายเท่าไรนัก ก็สามารถเว้นระยะห่างการใช้งานเครื่องดูดฝุ่นจากดูดฝุ่นทุกสัปดาห์ เป็นดูดฝุ่น 2- 3 ครั้งต่อเดือนก็ได้ วิธีนี้ก็ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟให้คุณได้เยอะเช่นกันค่ะ


3. ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน

          เพียงแค่ปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นการตัดกระแสไฟเลยซะทีเดียว เพราะตราบใดที่ปลั๊กยังเสียบอยู่กับเต้ารับ ตราบนั้นก็ยังคงมีกระแสไฟไหลวนเพื่อให้คุณเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้โดย ทันที โดยเฉพาะคนที่ชอบเปิดโหมดพักหน้าจอคอมพิวเตอร์ไว้เอา เพียงแค่ 1 ชั่วโมงก็สูญเสียกระแสไฟไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไรแล้วนะจ๊ะ และในเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ควรถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานออกทุกครั้งด้วยจะดีที่สุด

4. เลือกใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซ้นส์

          หลอดไฟฟลูออเรสเซ้นส์มีราคาแพงกว่าหลอดไฟชนิดอื่นก็จริง แต่หลอดไฟฟลูออเรสเซ้นส์สามารถช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดไฟชนิดอื่นถึง 75% เลยทีเดียว แถมยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีความทนทานมากพอสมควรเลยด้วยนะ อย่างนี้ก็รู้แล้วใช่ไหมล่ะว่า ควรต้องเลือกใช้ไฟแบบไหนถึงจะประหยัดไฟ และคุ้มค่าเม็ดเงินมากกว่า

5. ซักรีดเสื้อผ้าในคราวเดียว

          เครื่องซักผ้า และเตารีดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่กินไฟ มากเช่นกัน ดังนั้นหากคุณจะซักรีดเสื้อผ้า ก็ควรซักรีดเสื้อผ้าคราวละมาก ๆ ครั้งเดียว หรืออย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณประหยัดไฟได้อีกมากโขเลยล่ะค่ะ อ๊ะ ! คนที่ชอบรีดเสื้อผ้าทุกเช้า ควรเปลี่ยนพฤติกรรมด่วน ๆ เลยนะจ๊ะ

6. ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ให้น้อยลง

          บรรดาเครื่องปั่น เตาไมโครเวฟ กระทะไฟฟ้า รวมไปถึงเตาอบ จัดว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทฟุ่มเฟือย ที่กินไฟฟ้าไม่น้อยเลยทีเดียว ฉะนั้นหากเป็นไปได้ลองลดความถี่การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ดู แล้วมาเปรียบเทียบจากค่าไฟปลายเดือนกันดีกว่า

7. จัดการตู้เย็นให้สะอาดและเป็นระเบียบ

          ใครที่ชอบสะสมของกินไว้ในตู้เย็นวันละนิดวันละหน่อย แต่สุดท้ายก็ลืมทิ้งไว้ให้เน่าเสียคาตู้เย็น รู้ไหมคะว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขในบิลค่าไฟพุ่งสูง ขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังทำให้ตู้เย็นของคุณสกปรก เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย ส่งผลกระทบกับสุขภาพร่างกายได้ง่าย ๆ อีกด้วยนะ

8. เมินที่โกนหนวดไฟฟ้า และแปรงไฟฟ้า

          ลำพังแค่แปรงสีฟันธรรมดา และมีดโกนหนวดแบบปกติก็สามารถทำความสะอาดช่องปากและใบหน้าของคุณได้หมดจดมาก พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์อย่างที่โกนหนวดไฟฟ้า และแปรงไฟฟ้าเลยสักนิด แถมยังช่วยประหยัดไฟที่ต้องชาร์จแบตให้คุณได้อีกเยอะเลยด้วย

9. ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้งาน

          หลายคนชอบเปิดไฟทั่วบ้าน เพราะอยากให้บ้านดูสว่างไสว แต่หากได้เห็นบิลค่าไฟตอนสิ้นเดือนแล้วก็คงตกใจน่าดูใช่ไหมล่ะ ฉะนั้นก็ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้งานจะดีกว่า แล้วออกจากบ้านทุกครั้งก็ควรเดินสำรวจให้รอบบ้านด้วยว่า มีไฟดวงไหนที่เปิดค้างอยู่หรือเปล่า ค่าไฟในบ้านจะได้ไม่พุ่งสูงมากนัก
10. ลงทุนติดตั้งเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว

          สำหรับคนที่ขี้หลงขี้ลืมขนาดหนัก อาจจะลงทุนครั้งใหญ่กับการติดตั้งเซ็นเซอร์จับสัญญาณการเคลื่อนไหวไว้รอบ ๆ บ้านก็ได้ ตัวเซ็นเซอร์นี้จะช่วยเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ ๆ ในบ้านเวลาที่มีคนเดินเข้ามา และอยู่ในห้องนั้น แต่หากตัวเซ็นเตอร์จับการเคลื่อนไหวของคนไม่ได้ ก็จะจัดการปิดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อัตโนมัติ เจ๋งแถมช่วยประหยัดไฟได้อีก



การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม


               การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด โดยใช้ให้น้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้ให้ยาวนาน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการกระจายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ในสภาพปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความหมายรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย



การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทางตรง ซึ่งปฏิบัติได้ในระดับบุคคล องค์กร และระดับประเทศ ที่สำคัญ คือ
  1. การใช้อย่างประหยัด คือ การใช้เท่าที่มีความจำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
  2. การนำกลับมาใช้ซ้ำอีก สิ่งของบางอย่างเมื่อมีการใช้แล้วครั้งหนึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ เป็นต้น หรือสามารถที่จะนำมาใช้ได้ใหม่โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำกระดาษที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อทำเป็นกระดาษแข็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้
  3. การบูรณะซ่อมแซม สิ่งของบางอย่างเมื่อใช้เป็นเวลานานอาจเกิดการชำรุดได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการบูรณะซ่อมแซม ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก


การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
  1. การพัฒนาคุณภาพประชาชน โดนสนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
  2. การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย การจัดตั้งกลุ่ม ชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนการให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น
  3. ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตน การประสานงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน ให้มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด